โลกอนาคตมาถึงแล้ว อยู่เฉยๆ เท่ากับนับถอยหลัง มาดูเทรนด์ของตลาดงานไปจนถึงปี 2022 เพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้…
1. ระบบ automation ระบบการทำงานที่อาศัยหุ่นยนต์ และระบบดิจิทัล จะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ
ตั้งแต่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในสมาร์ทโฟน ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ big data ไปจนถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จะผลักดันให้องค์กรและบริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับเทรนด์ใหม่ๆ นอกจากนี้จะมีหลายบริษัทที่เริ่มลงทุนค้นคว้าเกี่ยวกับ machine learning และเทคโนโลยีสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือน (Augmented Reality) การจำลองสภาพแวดล้อมจริง (Virtual Reality)
แม้การลงทุนในเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ จะยังจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบที่มีฐานอยู่กับที่ น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีการนำไปใช้แพร่หลายภายในปี 2022 และมีการใช้งานต่างกันไปในแต่ละประเภทธุรกิจ
2. ถึงแม้หลายอาชีพจะถูก disrupt แต่ความต้องการแรงงานในอาชีพใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
“สายอาชีพที่คาดการณ์ว่าจะโตขึ้น
คืออาชีพที่ต้องอาศัยคุณสมบัติของมนุษย์”
จากสถิตองค์กรใหญ่ทั่วโลก อาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 27% ภายในปี 2022 ในขณะที่งานซึ่งได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ล้าหลัง จะลดลงจาก 31% เหลือ 21% หมายความว่าตำแหน่งงานกว่า 75 ล้านตำแหน่ง อาจได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสัดส่วนการทำงานโดยคนเมื่อเทียบเครื่องหรือระบบ นอกจากนี้ยังจะมีตำแหน่งงานอีกกว่า 133 ล้านตำแหน่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใหม่
สายอาชีพที่กำลังเติบโต ได้แก่ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น การค้าออนไลน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย หรือสรุปก็คือ อาชีพที่กำลังโต ก็คือที่มีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และพัฒนาไปพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีนั่นเอง
แต่ที่น่าสนใจคือ สายอาชีพที่คาดการณ์ว่าจะโตขึ้น คืออาชีพที่ต้องอาศัย “คุณสมบัติของมนุษย์” เช่น บริการลูกค้าสัมพันธ์ งานขายและการตลาด การฝึกฝนและพัฒนา ฝ่ายบุคคลและวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กร และผู้จัดการฝ่ายนวัตกรรม
3. สัดส่วนของการทำงานโดยคน เมื่อเทียบเครื่องหรือระบบ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เจ้าของธุรกิจคาดการณ์ว่า สัดส่วนของการทำงานโดยคนเมื่อเทียบเครื่องหรือระบบ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ชั่วโมงการทำงานจากหลากหลายธุรกิจ โดยเฉลี่ย 71% มาจากมนุษย์ ในขณะที่ 29% ที่เหลือจัดการโดยหุ่นยนต์หรือระบบ คาดว่าภายในปี 2022 ค่าเฉลี่ยนี้จะเปลี่ยนสัดส่วนการทำงานโดยมนุษย์อยู่ที่ 58% โดยเฉลี่ย และหุ่นยนต์หรือระบบเพื่มขึ้นเป็น 42%
ปัจจุบันยังไม่มีงานใดที่สามารถทำได้โดยอาศัยหุ่นหรือระบบเป็นหลัก แต่ภายในปี 2022 การประมวลผลของข้อมอูลองค์กร การสืบค้นข้อมูล และการโอนถ่ายข้อมูลจะอาศัยเครื่องจักร โดยในส่วนของการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ความสามารถในการตัดสินใจ การบริหารจัดการ และการสืบค้น จะเริ่มทำได้โดยระบบมากขึ้น
กระทั่งงานที่ส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งมนุษย์อย่างการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ การประสานงาน การจัดการ และให้คำแนะนำ ก็เริ่มที่จะให้ระบบทำได้บ้างแล้ว
4. งานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ส่งผลให้ความต้องการสำหรับทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
ภายในปี 2022 ทักษะที่ใช้ในการทำงานจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ค่าเฉลี่ยของ “ความคงที่ของทักษะ” หรือสัดส่วนของทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานจะยังคงเดิม คาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 58% ซึ่งแปลว่าทักษะที่เป็นที่ต้องการในที่ทำงานอีก 42% หรือเกือบครึ่งจะเปลี่ยนไป
ทักษะที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือทักษะในการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นความต้องการในด้านทักษะทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายรูปแบบ
แต่ทักษะ “มนุษย์” เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่แตกต่าง ความคิดริเริ่ม การคิดเชิงวิเคราะห์ การโน้มน้าว การเจรจา จะยังมีคุณค่าเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น ความละเอียดรอบคอบ ความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนก็เช่นกัน ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะผู้นำ การสร้างแรงจูงใจ และการบริการ ก็ยิ่งจะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต
5. ทุกคนต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาเสมอ
“ทักษะที่ขาดหายในคนทำงานหรือในผู้นำองค์กร
อาจทำให้การเติบโตและก้าวหน้าขององค์กรต้องสะดุด”
พนักงานส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะเดิม และพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เฉลี่ย 101 วันก่อนจะถึงปี 2022 ทักษะที่ขาดหายในคนทำงานหรือในผู้นำองค์กร อาจทำให้การเติบโตและก้าวหน้าขององค์กรต้องสะดุด นอกจากนี้ บริษัทกว่า 2ใน 3 จะต้องอาศัยการจ้างคนนอก พนักงานชั่วคราว และฟรีแลนซ์เพื่อเติมทักษะที่พัฒนาไม่ทัน โดยมีปัจจัยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและประเทศที่ตั้ง องค์กรต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบในแง่ของการจ้างพนักงาน การฝึกพนักงานในทักษะเดิม และการเสริมทักษะใหม่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จในการปรับตัว
ที่มา:
World Economic Forum – Future of Jobs Report