หลายคนที่ทำธุรกิจ อาจจะเคยเจอปัญหาที่ว่า บางครั้ง เวลาทำสินค้าหรือบริการใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้า ก็มักจะมีความมั่นใจอย่างมากว่า ของของเรานั้นดี และคนจะต้องชอบ แต่ความเป็นจริง กลับขายไม่ออก ทำไมบางครั้ง สิ่งที่เราคิดว่าดี กลับไม่มีใครเห็นดีด้วยกับเรา แล้วทำไม ของบางอย่างที่เราคิดว่าดี ในบางครั้งกลับขายไม่ออก ?
ถ้าใครที่เคยอ่านหนังสือ “UNICORN TEARS สตาร์ตอัปแบบไหน ที่ไม่ได้ไปต่อ” เนื้อหาบางช่วงของหนังสือเล่มนี้บอกว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ตอัปหรือธุรกิจต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะสินค้า หรือบริการของบริษัทนั้น “ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ” ของผู้ใช้งาน ซึ่งหนึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาที่ว่านี้ คือการที่บริษัทขาด “Empathy” หรือ ขาดความเข้าใจลูกค้า
ตัวอย่างของบริษัทที่ขาด Empathy ก็อย่างเช่น บริษัทที่มีการออกแบบสินค้าใหม่ โดยไม่สำรวจความต้องการผู้บริโภคหรือบริษัทที่ออกสินค้าใหม่มา โดยที่ไม่เคยทดลองตลาดก่อนเลย ซึ่งบริษัทไหนที่ออกสินค้าใหม่มาแบบนี้ ก็มีความเสี่ยงสูง ที่สินค้าที่ออกมาใหม่นั้น จะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เพราะบริษัทอาจขาดความเข้าใจ ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าต้องการอะไร แล้วจะทำอย่างไร ให้สามารถสร้าง Empathy ขึ้นมาได้ ?
เรื่องนี้ เราสามารถนำแนวคิดเรื่อง Outward Mindset เข้ามาปรับใช้ได้ ซึ่งแนวคิด Outward Mindset ก็คือ การที่เราต้องมองไปที่ความต้องการของผู้อื่น นอกเหนือไปจากความต้องการของตัวเราเอง สำหรับวิธีการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในกรณีนี้ ก็คือ
- อย่าเพิ่งยึดติดว่าไอเดียของเรา เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
- เปิดใจ และตั้งใจฟังความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะของผู้ใช้งานอย่างเต็มที่
- นำสิ่งที่ได้รับฟังมาปรับใช้ และปรับปรุงในการออกแบบสินค้าหรือบริการ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
และสำหรับตัวอย่างของบริษัทที่นำแนวคิดนี้มาใช้ ก็มีให้เห็นได้ทั่วๆ ไป อย่างเช่น เวลาที่บางแบรนด์จะออกผลิตภัณฑ์โฟมล้างหน้าตัวใหม่ ก็จะมาตั้งบูทเพื่อขออาสาสมัครเข้าไปทดลองสินค้าเพื่อเก็บฟีดแบ็ก หรือบางแอปพลิเคชัน ที่นำเอาฟีดแบ็กผู้ใช้งานมาพัฒนาฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น Instagram ที่หลายคนคงจำกันได้ว่า แต่ก่อน เราจะเลือกลงรูปได้เพียงรูปเดียว ใน 1 โพสต์ แต่ตั้งแต่ช่วงปี 2017 เป็นต้นมา Instagram ก็ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกลงหลายรูป ได้ในโพสต์เดียว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ ทีมพัฒนาของ Instagram ได้รับฟีดแบ็กว่า เวลาผู้ใช้งานลงรูปภาพติด ๆ กันหลายรูป หลายคนโดนกดเลิกติดตาม เพราะลงรูปถี่ และติดกันจนเกินไป
เรื่องนี้จึงเป็นที่มาให้ Instagram ปรับให้ผู้ใช้งาน สามารถลงได้หลาย ๆ รูป ในโพสต์เดียวได้ นั่นเอง การที่บริษัททำแบบนี้ คือการพยายามเข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งก็จะช่วยลดโอกาส ในการที่ออกสินค้าใหม่มาแล้วขายไม่ออก หรือทำบริการออกมาแล้วไม่มีคนใช้ได้
จะเห็นว่า แนวคิดเรื่อง Outward Mindset เป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในโลกธุรกิจได้ และนอกจากเรื่องธุรกิจแล้วนั้น การเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเราเปิดใจมองความต้องการของคนอื่น ก็จะทำให้เราเข้าใจคนรอบข้างได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ดี ของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม นั่นเอง