การได้ขึ้นเป็นหัวหน้าทีมครั้งแรก คงจะเป็นเรื่องที่ใครหลายคนรู้สึกกังวล เพราะไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร หรือจะวางตัวอย่างไรดี จนอาจส่งผลต่อความมั่นใจในการทำงานได้ รู้ไหมว่า จริงๆ แล้ว เราสามารถเปลี่ยนความกังวลเหล่านี้ ให้กลายเป็นโอกาสในการพัฒนาฝีมือตัวเองได้
คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เราต้องเข้าใจความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของคำว่า ‘ผู้นำ – Leader’ กับ ‘ภาวะผู้นำ – Leadership’ อย่างถ่องแท้เสียก่อน โดยคำว่า ‘ผู้นำ’ หมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน ส่วน “ภาวะผู้นำ” จะเป็นเรื่องของสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับวุฒิภาวะ ซึ่งรวมรายละเอียดของบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย การวางตัว แนวความคิด ตลอดจนมุมมองและวิธีการแก้ไขปัญหามารวมไว้ด้วยกัน โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือแม้แต่เพศ หรือวัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ‘ภาวะผู้นำ’ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และเร่งฝึกฝนพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงและเต็มไปด้วยความแน่นอน ผู้นำต้องอัพเดตทักษะและวิธีคิดที่จำเป็น เพื่อให้สามารถก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง และพร้อมขับเคลื่อนพลวัตรของกลุ่มและทุกองคาพยพขององค์กรให้สามารถดำเนินงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในยุคปัจจุบัน”
และนี่คือ 5 เทคนิคสำคัญ ที่จะช่วยให้หัวหน้ามือใหม่ สามารถบริหารทีมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้ตัวผู้นำเอง ได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำไปพร้อมๆ กันด้วย
1. ทำความรู้จักลูกทีมของคุณให้ดี
พยายามหาเวลาในการรับฟังและทำความรู้จักลูกทีม คอยค้นหา และสอบถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานของพวกเขา ถ้าหัวหน้ารู้จักนิสัยใจคอ และวิธีการทำงานของลูกทีมแต่ละคน ก็จะทำให้เข้าใจปัญหา รู้จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน และสามารถออกแบบกระบวนการการทำงาน ที่เหมาะสมกับทีมได้ อีกทั้งยังช่วยทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ความไว้วางใจ และสร้างความผูกพันระหว่างหัวหน้ากับทีมงานอีกด้วย
2. สื่อสารกันให้มากที่สุด
สื่อสารออกไปให้ชัดเจนว่าในแต่ละโพรเจกต์ ใครทำอะไร ทำเพื่ออะไร เสร็จสิ้นเมื่อไร และที่สำคัญคือ เลือกช่องทางการการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพที่สุด
อีกประเด็นสำคัญคือ อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปเองว่า หลังการประชุม ทุกคนจะมีความเข้าใจตรงกันอย่างละเอียดแล้ว โดยควรหาวิธีที่จะสามารถตรวจสอบการทำงานได้ด้วย เช่น นัดอัปเดตงานทุก 2-3 วัน หรือกำหนดวันให้คนในทีมสามารถอัปเดตงาน หรือแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น
3. เป็นต้นแบบที่ดีให้ได้
ถ้าเราต้องการให้ทีมงานเป็นแบบไหน ตัวผู้นำเองก็ต้องแสดงคุณลักษณะเหล่านั้นออกมาด้วยเช่นกัน ตั้งแต่สิ่งที่พูด ไปจนถึงการลงมือทำ เพราะแบบอย่างของผู้นำ จะส่งผลต่อนิสัยและทัศนคติการทำงานในทุกๆ วันของทีมงาน หากผู้นำไม่โปร่งใส ปฏิบัติต่อทุกคนไม่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับทีมได้ ก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากทีมงาน
4. เด็ดขาด และขอความช่วยเหลือให้เป็น
เป็นเรื่องปกติที่เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น งานที่เข้ามา ก็จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้นำต้องรวบรวมข้อมูลให้มากท่ีสุด และรวดเร็วที่สุด เพื่อให้การตัดสินใจทำได้ว่องไว เด็ดขาด และผิดพลาดน้อยที่สุด และต้องรู้ว่า เมื่อไรที่ควรขอความช่วยเหลือจากลูกน้องหรือทีมงาน เพื่อให้การทำงานหรือการตัดสินใจ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. ชมให้เป็น ตำหนิให้เป็น และให้ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา
หัวหน้าจะต้องรู้ให้เร็วว่าใครบ้างที่ทำงานได้ดี และให้รางวัลตามความเหมาะสม อาจจะไม่ต้องเป็นรางวัลใหญ่ แต่อย่างน้อยก็ควรจะมีคำพูดชื่นชม เพื่อให้ทีมงานเห็นว่า ตัวผู้นำมองเห็นถึงคุณค่าในความสำเร็จของพวกเขา
ในขณะเดียวกัน เมื่อมีคนทำผิดพลาด หรือทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ผู้นำต้องทำให้เขาเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ และทำให้เขาเกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ควรปล่อยผ่าน ที่สำคัญคือ ในการให้ฟีดแบ็กควรมีการสนทนาแบบส่วนตัว และไม่ควรแสดงออกว่าตัวคุณในฐานะหัวหน้าต้องการเอาชนะ หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี การติชม และการให้ฟีดแบ็กในแต่ละครั้ง ก็จะช่วยส่งเสริมการทำงานของทีมได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการทีม ไม่มีหลักการ หรือสูตรสำเร็จที่ตายตัว เพราะแต่ละทีมจะมีความเฉพาะ และความหลากหลายที่แตกต่างกัน
ดังนั้นแล้ว การจะเป็นหัวหน้าที่บริหารทีมให้ดีได้ต้องเริ่มจากการช่างสังเกต และเรียนรู้การทำงานของทีมอย่างลึกซึ้ง และถ้าคุณได้ลองนำ 5 เรื่องสำคัญในบทความนี้ไปลองปรับใช้แล้ว ก็จะยิ่งช่วยให้คุณ เป็นหัวหน้าที่เก่ง และบริหารทีมได้อย่างดีขึ้นแน่นอน