Resilience คำแห่งปีที่คนยุคนี้ต้องรู้จัก

เชื่อว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 จนถึงตอนนี้ หลายๆ คนคงจะได้ยินหรือได้เห็นคำว่า ‘Resilience’ ผ่านตากันมาไม่มากก็น้อย และเจ้าคำคำนี้ยังถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นคำศัพท์แห่งปีของปี 2021 ที่กำลังจะถึงนี้อีกด้วย อะไรที่ทำให้คำคำนี้ได้รับความสนใจ แล้วจริงๆ คำว่า Resilience นั้นคืออะไรกันแน่?

Resilience มาจากภาษาละตินว่า “resilire” หมายความว่า “การเด้งกลับ” Resilience ในทางจิตวิทยาหมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะต่อสู้กับความเจ็บปวด ความล้มเหลว ความอ่อนแอ ซี่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับความล้มเหลว รวมทั้งลุกขึ้นมาใหม่ได้อย่าง “แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม” ซึ่งความหมายนี้ก็สามารถนำไปใช้ในบริบทขององค์กรได้เช่นเดียวกัน

เหตุผลที่ Resilience ถูกพูดถึงอย่างมาก นั่นก็เพราะว่าทักษะนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะการมีทักษะนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์ให้กับเรา ทำให้เราสามารถจัดการและรับมือกับปัญหามากมายที่เรากำลังเผชิญในช่วงวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น เพราะถ้าหากเราไร้ซึ่งความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์ จะเป็นเรื่องยากมาก ที่จะกลับมาตั้งหลักและวางแผนให้ดีก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำมากที่สุดในขณะนั้น อะไรที่เราต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อพลิกวิกฤต ให้เป็นโอกาส

คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “คุณเองเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Resilience ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน แต่ละคนต้องฝึกฝนให้ตัวเองมีความยืดหยุ่น ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่าง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกัน ทักษะนี้จะเป็นรางวัลชิ้นโต เป็นโอกาสในการเติบโต หากเราได้ฝึกฝันทักษะนี้อย่างจริงจัง และเราต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ในสถานการณ์นี้ เราจะต้องปรับตัวเองให้ดีขึ้น และเริ่มทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน เพื่อที่จะรับมือกับปัญหา ความท้าทายใหม่ๆ ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า resilience ไม่ใช่การอดทนต่อการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเตรียมพร้อมเหมือนกับการพักฟื้นเพื่อกลับไปเริ่มต้นอีกครั้ง”

แม้ Resilience อาจฟังดูเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่แท้จริงแล้วมันยังสามารถเป็นสิ่งที่ทำหรือสร้างร่วมกันได้ (Group resilience) เพื่อที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรในท้ายที่สุด ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง องค์กรแบบ resilient จะสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ใจของพนักงาน และช่วยพนักงานในการปรับตัว การบริหารจัดการที่ดีนั้นเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง Resilience ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน โดยเฉพาะในฐานะหัวหน้า ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้ Resilience เกิดขึ้นนั้นประกอบไปด้วย 2 มุมมอง ได้แก่

  1. มุมมองที่เริ่มจากตนเอง

เราสามารถเริ่มจากตัวเองได้โดยการให้เกียรติ รับฟัง และให้คำปรึกษาผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกมีอิสระและไวต่อการตอบสนอง นำมาซึ่งแรงจูงใจและความพร้อมในการเป็นคนที่ resilient มากขึ้นกว่าเดิม

ถ้าเราอยากที่จะไขว่คว้าโอกาสใหม่ๆ เราต้องเริ่มเข้าใจถึงคำว่า self-awareness หรือการตระหนักรู้ในตัวเอง ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ จะไม่สามารถได้ผลลัพธ์ที่ดีอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าเราจะพยายามปรับปรุงก็ตาม สิ่งเหล่านี้ที่เราเคยทำมาตลอดจะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป นั่นเพราะเรากำลังอยู่ในบริบทที่ต่างออกไปจากเดิม หากเราไม่ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่าง เราก็จะไม่มีวันรับรู้ถึงโอกาสที่ดีกว่า ที่กำลังรออยู่ข้างหน้า

เราต้องมีความตระหนักรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำแล้ว สิ่งไหนทำแล้วเป็นประโยชน์ในวันนี้ และสิ่งไหนที่ไม่มีประโยชน์และควรหยุดทำแล้วในวันนี้ หลังจากนั้นจึงเริ่มยอมรับได้ และลองทำสิ่งที่แตกต่างออกไป

  1. มุมมองในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะในแง่มุมของการทำงานเป็นทีม เราสามารถทำได้โดยการสร้างบรรยากาศในการบริหารทีมที่เป็นเชิงบวก รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับแต่ละคน กระตุ้นให้เกิดการคิดริเริ่มใหม่ๆ รวมทั้งยังมีเทคนิคในการรับมือ (Coping techniques) ที่จะช่วยในการควบคุมในเรื่องอารมณ์ที่เกิดจากความเครียด โดยสามารถแบ่งย่อยเป็นการับมือ 2 แบบ คือ

“Active coping” คือ การแก้ปัญหา และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เป็นบ่อเกิดแห่งความเครียด

“Emotional coping” คือ การหลีกเลี่ยงปัญหา และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ตึงเครียด

การที่เราจะสร้าง resilience ในตัวเราเองหรือรวมถึงในองค์กรได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นในเวลาอันสั้น ต้องเกิดจากการฝึกฝน ย้ำเตือนตัวเองให้มีมุมมองแบบ resilience ทั้ง 2 อย่างอยู่เสมอ นั่นก็คือ มุมมองที่เริ่มจากตัวเราเอง และ มุมมองในการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น บางครั้งมันอาจจะยากในการที่จะก้าวข้ามผ่านความล้มเหลว แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นจากมี mindset ที่ดี การที่จะได้มาซึ่ง resilience ก็ไม่เกินความสามารถแน่นอน

Loading

บทความอื่นๆ