ปรับความคิดอย่างไรดี? เมื่องานที่ทำ ไม่ใช่งานที่ชอบ

เคยเป็นไหม.. เปลี่ยนงานมาหลายที่ แต่ก็ยังไม่เจองานที่ถูกใจ แล้วเราควรจะทำอย่างไร? หากงานที่ทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่งานที่ชอบ ย้อนกลับไปในวันแรกที่ได้เริ่มต้นทำงาน หลายคนรู้สึกตื่นเต้น และดีใจที่ได้รับโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จนเกิดความรู้สึกอยากทำงานนี้เหลือเกิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเคยชินจากการทำงาน ทำให้ความตื่นเต้นนั้นหายไป แถมยังจะมีปัญหาการทำงานรูปแบบต่างๆ เข้ามาแทนที่ เช่น ความไม่น่ารักของเพื่อนร่วมงาน, แรงกดดันจากหัวหน้า, ปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น จนหลายคนอาจเริ่มรู้สึกว่า งานที่ทำ ไม่ใช่งานที่ชอบเสียแล้ว

คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “หลายคนหลีกเลี่ยงความท้าทาย ไม่ชอบความไม่แน่นอนในชีวิต และไม่กล้าที่จะล้มเหลว เพราะไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร หากมีงานโปรเจกต์ใหม่ๆ เข้ามา คุณเลือกที่จะท้าทายหรือส่งต่อให้คนอื่นเพราะกลัวตัวเองทำพลาด ถ้าคำตอบของคุณหลายๆ ครั้ง คือการหนี ไม่ยอมท้าทาย ไม่อยากทำ นั่นแปลว่า คุณอาจกำลังติดกับดักทางความคิกของคุณเอง ทำให้ไม่กล้าที่จะลองทำและล้มเลิกกลางทางตัวเอง ทำให้ชีวิตการทำงานถึงทางตันได้ไม่ยาก แต่ถ้าเราฝึกปรับความคิด ก็จะช่วยให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาได้ดีขึ้น Growth Mindset คือกระบวนคิดที่ผลักดัน ให้เราเอาชนะปัญหา และความท้าทาย และมุ่งสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นได้เรื่อยๆ ” แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี ? ลองมาดู 3 ตัวอย่าง ที่จะช่วยปรับแนวคิดการทำงานของเราแบบง่ายๆ เหล่านี้กัน

1.เพิ่มคำว่า “ยัง” ลงไปในความคิดเชิงลบ เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็น ความคิดเชิงบวก

หากเราไม่มั่นใจในงานที่ได้รับมอบหมาย และคิดไปเองว่า “เราทำไม่ได้” ลองปรับความคิดใหม่โดยการเพิ่มคำว่า “ยัง” ลงไปในความคิดลบเหล่านั้น

เช่น “ฉันทำไม่ได้” ปรับเป็น “ฉันยังทำไม่ได้” หมายความว่า เราเองก็สามารถทำสิ่งนี้ได้ เพียงแต่เราอาจกำลังกังวลเพราะไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น หากเราลองเปิดใจศึกษาและลองทำ ก็มีโอกาสที่เราจะทำมันได้

2.เปลี่ยน “ข้อจำกัด” ให้เป็น “โอกาส” เพื่อพัฒนาความสามารถตนเอง

ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วน และมีเวลาทำงานน้อย อาจบังคับให้เราต้องส่งงานไปในแบบที่ยังไม่สมบูรณ์ และคิดไปเองว่า “เราทำได้แค่นี้แหละ” แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากคิดว่า เวลาที่มีน้อยนั้น เป็นข้อจำกัด แล้วมาคิดใหม่ว่า เวลาที่มีน้อยตรงนั้น คือโอกาส โอกาสให้ได้พิสูจน์ฝีมือ ว่าเราสามารถทำงานให้ออกมาดีได้แม้มีเวลาน้อย ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนที่เก่งขึ้นได้เหมือนกัน

3.เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ

หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อรูปแบบงานที่เคยทำต้องเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนรูปแบบรายงาน, เปลี่ยนวิธีวิเคราะห์ข้อมูล, เพิ่มฐานข้อมูล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ย่อมทำให้หลายคนไม่คุ้นชิน จนต้องตั้งคำถามว่า.. “ทำไมต้องเปลี่ยน” หากใครกำลังเจอกับสถานการณ์นี้ ลองปรับแนวคิดใหม่ เปลี่ยนจากคำถามว่า “ทำไมต้องเปลี่ยน” ไปเป็น “เปลี่ยนแล้วดีขึ้นอย่างไร” อาจทำให้เหมือนเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสใหม่ ให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำหรือจำเจ

มาถึงตรงนี้ คงได้เห็นแล้วว่า เราสามารถปรับมุมมองความคิด และเลือกตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ตัวเราและองค์กรได้ ซึ่งแนวคิดที่จะช่วยให้เราเปิดใจ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลานี้ เรียกว่า Growth Mindset เมื่อเรามี Growth Mindset ในการทำงาน และรู้วิธีเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้แล้ว เราก็จะรู้สึกดีในงานที่ทำมากขึ้น สุดท้ายแล้ว งานที่เราอาจมองว่าไม่ชอบในตอนแรก อาจจะกลายเป็นงานที่สร้างโอกาส และความสำเร็จให้กับตัวเรา ก็เป็นได้

Loading

บทความอื่นๆ