How to ผันตัวเองเป็น “เป็ด” ที่เก่งกาจ
“เป็ด” คำที่หลายคนคุ้นเคยกับการนิยมยามใครก็ตามที่ ทำอะไรได้หลายอย่าง เปรียบเสมือนเป็ด ที่เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ บินได้ เดินได้ เมื่อเทียบกับสัตว์ส่วนใหญ่ที่มักมีทักษะเฉพาะที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียวแต่เป็นเลิศ
การทำงานยุคนี้จำเป็นต้องรู้กว้างด้วย ต้องเติบโตทางการงานด้วย MULTI-SKILL และไปให้เร็วกว่าด้วย MINDSET ผลงานวิจัยใหม่จาก Harvard Business School พบว่า คนที่มีความรู้แบบกว้าง จะมีแนวโน้มที่สามารถต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ ไปสู่การเกิดแนวคิดใหม่ได้ไม่รู้จบ และคนที่มีความรู้แบบกว้าง จะสามารถประเมินศักยภาพตัวเองได้ดีและเติบโตแบบก้าวกระโดดเมื่อโอกาสมาถึง
คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท SEAC กล่าวว่า “เทรนด์วันนี้คือหลายคนลุกขึ้นมาเรียนรู้ในแนวกว้างมากขึ้น เพื่อเอามาทำงานในสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีกว่าเดิม เราต้องมองในมุมกว้างให้เป็น ถ้าเราเก่งแค่อย่างเดียว แต่ไม่รู้มิติอื่นเลย เราจะล้าหลัง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมามองหาว่าคลาสเรียนเอง หาข้อมูล ทำแบบประเมินว่าวันนี้เราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะไหน เทรนด์ในวันนี้คือ คนอยากมีทักษะ T-shaped มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เราถนัดและดูเรื่องการขายมาตลอด เราก็จะเก่งเรื่องการขายมากเลย
แต่วันนี้เราต้องมองการตลาดมาผสม ต้องมองเรื่องรูปแบบการวิเคราะห์ลูกค้า จากในอดีตที่คนส่วนใหญ่เน้นการมองในส่วนลึกหรือทักษะแบบ I-shaped คือรู้ให้ลึกเพียงแขนงเดียวก็ว่าเพียงพอแล้ว แต่ในวันนี้ T-shaped จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และควรสร้างทักษะทั้ง soft skills และทักษะอื่นๆ นอกจากสายงานที่เราเชี่ยวชาญเข้าไปด้วย”
การมีทักษะที่หลากหลาย แบบ Multi-Skill คนทำงานที่มีทักษะนี้ส่วนใหญ่จะเห็นในระดับหัวหน้าและผู้บริหาร ซึ่งสำหรับคนทำงานทั่วไปนั้น หากนำมาใช้ก่อนก็จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ทางการงาน ทั้งความก้าวหน้าในงานหลัก รวมไปถึงการสร้างรายได้จากโอกาสหรืองานเสริมอื่น ๆ โดยวิธีการรู้แบบกว้างนั้นมีกระบวนการทั้งหมด 4 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 : เริ่มจากตั้งหลัก “เก่งในสกิลพื้นฐาน” ของส่วนงานนั้น ๆ ก่อน
หลังจากเริ่มทำงานมาซักพัก การตั้งหลักแรกในการรู้แบบกว้าง คือต้องสร้างฐานเดิมที่แน่นก่อน โดยมีทักษะเชิงลึกในงานของตัวเองระดับเบื้องต้น และเสริมด้วยทักษะของคนทำงานที่ควรมี เช่น Word, Excel, Google Drive, การเจรจา, การสื่อสารเบื้องต้น ฯลฯ เพื่อใช้ในการต่อยอดส่วนอื่น ๆ ต่อไป
ขั้นที่ 2 : ก้าวใหม่ด้วย “การคิดเชิงออกแบบ” Design Thinking
โลกของการทำงาน ต้องเรียนรู้วิธีการเติบโตในแบบของตัวเอง หากมองในมุมเดิมจะเห็นแค่การเดินทางในสายอาชีพตัวเอง ในความจริงแล้วทุก ๆ วันเรามักจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา วิธีการนำเข้ามูลใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องใช้หลักการคิดแบบ Design Thinking คือการออกแบบเชิงความคิด ที่จะเน้นให้การคิดนั้นต่อยอดแบบสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ ๆ การคิดในมุมที่ออกจากจุดเดิม ๆ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาได้จริงจากการวิเคราะห์และเข้าใจความต้องการของโจทย์แต่ละแบบมาแล้ว เพราะชีวิตนั้นซับซ้อน กระบวนการคิดจึงต้องมีการออกแบบ เมื่อออกแบบได้ดี ผลที่ได้จะเป็นก้าวใหม่แห่งการเติบโตทางการงานได้ในที่สุด
ขั้นที่ 3 : “ปลดล็อคข้อจำกัด” ด้วย Growth Mindset
คนส่วนใหญ่นั้นรู้ว่าต้องเดินยังไง เพื่อให้การงานเติบโต แต่มีส่วนน้อยที่จะรู้ว่า ต้องปลดล็อคตัวเองยังไง การฉีกกรอบความคิดออกไป นั้นต้องอาศัยตัวช่วยที่เรียกว่า Growth Mindset เป็นกระบวนการสร้างมุมมองแห่งการพัฒนาแบบไม่มีขอบเขต ผู้ที่มี Growth Mindset นั้นต่อให้เจอเรื่องปัญหาหรืออุปสรรค พวกเค้าจะมองว่านั่นคือสิ่งท้าทาย ที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนให้เติบโตแบบก้าวกระโดด หากได้เรียนรู้ศาสตร์นี้ จะช่วยให้ปลดล็อคข้อจำกัดของตัวเองได้จนนำไปสู่การรับมือและลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป โดยไม่กลัวความล้มเหลว
ขั้นที่ 4 : “สร้างโอกาส” ได้ทุกสถานการณ์ ด้วย Agile Mindset
โอกาสนั้นเป็นของ “หายาก” แต่สามารถสร้างเองได้ วิธีการสร้างที่ได้ผลที่สุด คือการนำด้วยความคิดในรูปแบบของ Agile Mindset ซึ่งจะชี้นำไปที่ การทำงานแบบคล่องตัว ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และพร้อมปรับตัวเสมอในโลกแห่งการทำงานในปัจจุบัน เหมือนเป็นการอัปเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนช่วยที่จะเปิดโอกาสให้ได้รับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา และพร้อมรับมือโอกาสนั้น ๆ ด้วยเครื่องมือที่มีแบบดีที่สุด