กระโดดออกจาก Comfort Zone ด้วย Mindset แห่งการเติบโต

“ก้าวออกจาก Comfort Zone” น่าจะเป็นคำแนะนำในการพัฒนาตัวเองที่เราคุ้นหูที่สุดในระยะหลัง แน่นอนว่ามันไม่ใช่คำแนะนำที่แย่ เพราะหลายครั้งการทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำก็นำไปสู่การค้นพบสิ่งที่ชอบหรือทักษะใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้

ทว่า เมื่อเราได้ยินคำนี้บ่อยๆ เข้า จากคำแนะนำก็ฟังดูคล้ายคำกดดัน บางครั้งเราปฏิเสธโอกาสไป กลับมานั่งรู้สึกผิดกับตัวเองทีหลัง แต่พอเราตอบตกลงทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทั้งๆ ที่ประเมินแล้วว่าตัวเองน่าจะไม่ไหว ผลงานก็ออกมาไม่ดี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลังล้มเหลวบ่อยๆ ก็คือการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ออกจาก Comfort Zone แล้วได้ดี แล้วก็จะเกิดการโทษตัวเองว่า “ปัญหาอยู่ที่ตัวเราเองหรือเปล่า? ทำไมคนอื่นทำแล้วสำเร็จ?”

 

แต่คำถามที่ควรตั้ง อาจไม่ใช่ ‘เราเก่งหรือไม่เก่ง?’ แต่เป็น ‘เราฝืนตัวเองเกินไปหรือเปล่า? โดยปกติแล้ว Comfort Zone จะมีอยู่ 3 โซน คือ

1) Comfort Zone: กิจกรรมที่เราคุ้นเคย ไม่วิตกกังวลเวลาทำ

2) Stretch Zone: เราจะเริ่มมีความตื่นเต้นที่จะได้ทำ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เคยลอง แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นสิ่งที่พอจะทำได้

3) Panic Zone: คือโซนที่ความกังวลพุ่งสูง เราจะเริ่มกลัวและเครียดและที่สำคัญคือเราจะไม่เกิดการเรียนรู้

 

คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า “เพราะความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) จะเข้ามาเป็นความท้าทายใหม่ในชีวิตของเราทุกคนใน VUCA World โลกใบใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ชีวิตประจำวันรวมถึงการทำงานของทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบความเปลี่ยนแปลง แต่ปีนี้โควิด-19 ได้สอนให้เรารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ลิมิตตัวเอง เพราะ Stretch Zone ของคนอื่นอาจหมายถึง Panic Zone ของเรา ถ้าเรารู้ตัวว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของเราแต่ต้องการแก้ไข ก็อาจจะเริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อนก็ได้”

 

ตัวอย่างเช่น หากคนที่ไม่ชอบเข้าสังคมอยากสนิทกับคนมากขึ้น แต่ฝืนตัวเองด้วยการไปอยู่ในที่ที่เสียงดังและคนเยอะ สุดท้ายก็คงเครียดจนไม่ได้รู้จักใครเพิ่ม แต่ถ้าลองเริ่มจากทักคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ นั่นก็อาจเป็นสิ่งที่พอจะทำไหว

 

Carol Dweck นักจิตวิทยาเชื่อว่า คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Mindset คนละแบบกับคนทั่วไป โดยคนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Mindset แบบ Growth Mindset พวกเขาเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาในทักษะต่าง ๆ ที่ตัวเองบกพร่องได้ ในขณะที่คนทั่วไปกลับมี Fixed Mindset โดยมีความเชื่อว่าคนเรามีทักษะที่จำกัด ไม่สามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้แล้ว

 

ในโลกยุคปัจจุบันคนที่มี Growth Mindset จะได้เปรียบเพราะสภาพแวดล้อมในโลกยุคนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันไปทั่วทุกหย่อมหญ้าตั้งแต่เด็ก ดังนั้นหากเรามี Growth Mindset ก็อาจจะทำให้เรามีแต้มต่อ ลองมาดูวิธีการพัฒนา Mindset กัน ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง

  1. ฟังเสียง Mindset ของตัวเอง

ขั้นตอนแรกของการปรับ Mindset ก็คือ เราต้องรู้ก่อนว่า Mindset ของเรานั้นเป็นแบบไหน ลองคิดดูว่าถ้า Mindset เป็นคนคนหนึ่งที่อยู่ในหัวของเรา เขาจะพูดกับเราอย่างไร ถ้าต้องเผชิญกับงานใหม่ที่ท้าทาย Mindset จะพูดกับเราว่า “จะทำได้เหรอ” “เก่งพอหรือเปล่า” “ถ้าพลาดนี่น่าอายนะ” คอยสังเกตและฟังเสียงต่าง ๆ ในหัวให้ดีถ้าคำพูดในหัวออกมาในทำนองนี้บ่อย ๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นคนที่มี Fixed Mindset ซึ่งจะทำให้ไม่กล้าพัฒนาตนเอง และมันอาจทำให้อาชีพการงานถึงทางตันได้ง่าย ๆ เลย

 

  1. เลือกที่จะฟัง Growth Mindset

เมื่อเรารู้แล้วว่า Mindset ของเราเป็นอย่างไร ขั้นตอนต่อมาคือ หาสาเหตุให้ได้ว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายต่าง ๆ ถ้าหาพบแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเราแล้วว่า เราจะมองสิ่งนั้นเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราพลาดท่าต้องหลีกเลี่ยง หรือมองเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ถ้าเราเลือกอย่างแรกนั่นคือเราใช้ Fixed Mindset แต่ถ้าเราเลือกอย่างหลังเรากำลังก้าวเข้าสู่การใช้ Growth Mindset แล้ว

 

  1. ตอบโต้กับ Fixed Mindset

Mindset เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามานาน การจะปรับเปลี่ยนให้ได้ในความพยายามครั้งแรกนั้นเป็นไปยากมาก Fixed Mindset ที่อยู่ในหัวเราจะคอยมาพูดกับเราตลอดเวลา วิธีการจัดการก็คือการเถียงกลับไป เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย Fixed Mindset จะส่งเสียงมาหาเรา ให้เราตอบกลับเสียนั้นไปด้วย Growth Mindset เช่น

  • Fixed Mindsetในหัวบอกว่า: แน่ใจเหรอว่าจะทำงานนี้ได้ บางทีความสามารถของเราไม่น่าจะถึงหรือเปล่า
  • Growth Mindsetตอบกลับไปว่า: ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทำได้ไหม แต่ถ้าเราพยายามก็น่าจะเรียนรู้ได้นะ
  • Fixed Mindsetในหัวบอกว่า: ถ้าพลาดล่ะ น่าอายนะ
  • Growth Mindsetตอบกลับ: ไม่มีใครไม่เคยทำพลาด เราเรียนรู้จากมันได้

 

  1. ทำ ทำ และทำ

เป้าหมายสำคัญของการเปลี่ยน Mindset ไม่ใช่แค่ให้เราเปลี่ยนความคิด แต่ต้องส่งผลถึงพฤติกรรมด้วย สิ่งที่ทำให้เราติดอยู่กับ Fixed Mindset เป็นเพราะว่าความไม่กล้าที่จะออกจาก Comfort Zone เมื่อเราเปลี่ยนเสียงของ Growth Mindset ให้เป็นพฤติกรรมได้ เรารู้สาเหตุว่าอะไรที่เราบกพร่องทำให้เราไม่มั่นใจ เราก็หาวิธีฝึกฝนในเรื่องนั้น ๆ เราก็จะสามารถขยาย Comfort Zone ของเราออกไปได้ ความสามารถในการพัฒนาตนเองเราก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

 

  1. ล้มแล้วลุก

ในหลายเรื่องเราก็ต้องยอมรับว่า แค่คิดแล้วลงมือทำเลยนั้นอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จได้ทันทีอย่างที่คิด เมื่อทำแล้วผิดพลาด อาจจะยิ่งตอกย้ำแล้วพาเรากลับไปอยู่ Fixed Mindset อีกครั้ง สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ให้กำลังตัวเอง ไม่ให้ท้อแท้ แต่เอาสิ่งที่ผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนที่เราต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ นอกจากนั้นต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดที่ทำให้เราทำไม่สำเร็จเมื่อครั้งก่อนให้ได้

 

ดังนั้น อย่ากลัวการแพ้ อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะคนที่ไม่เคยออกจาก Comfort Zone สุดท้ายก็จะหยุดอยู่กับที่และไม่เกิดการพัฒนา ดังที่ Michael John Bobak กล่าวว่า  “ความก้าวหน้าทั้งปวง ล้วนเริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณได้ก้าวออกจาก Comfort Zone”

Loading

บทความอื่นๆ