ปัจจัยที่ทำให้กระทบจิตใจได้ง่ายขึ้น
- พูดที่ไหน คนฟังรู้ตัวรึเปล่า? – บ่อยครั้งที่การให้ feedback ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถูกกาละเทศะ ไม่ใช่ทุกที่ทุกสถานการณ์จะเหมาะกับการคอมเมนต์ หากเกิดในที่ประชุม พูดในที่ที่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยิน หรือไม่มีการนัดอย่างเป็นทางการ จะทำให้ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะผู้ฟังจะรู้สึกอับอาย และอาจจะปิดไม่ยอมรับฟังไปเลย แทนที่จะพร้อมรับฟังเพื่อปรับปรุง
- คอมเมนต์นั้นรุนแรงแค่ไหน – critical feedback หรือคำติ พูดเบาๆ ก็เจ็บได้ แต่ถ้าพูดตรงมากเกินไป หรือพูดแรง เช่น ขึ้นเสียง หรือใช้คำไม่สุภาพ ปราศจากเทคนิคหรือชั้นเชิงในการให้ feedback ล่ะก็ จากการติเพื่อก่อ จะฟังดูรุนแรงกว่าความเป็นจริง จนเหมือนการตำหนิตัวบุคคลแทนที่จะเป็นการวิจารณ์การงาน เคสนี้บอกได้เลยว่า มีแต่เสียกับเสียทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
ขั้นตอนการฟังให้ได้ประโยชน์
ดึงสติ
หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ให้ตัวเองรู้สึกว่ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอยู่ และเป็นการเตือนสติว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งการ์ดเพื่อเตรียมรบ เราจับความรู้สึกตัวเองทันมั้ย ว่าเรารู้สึกเสียใจ กลัว อับอาย หรือขายหน้า เพราะถ้าไม่ควบคุม ความรู้สึกเหล่านี้จะกลายเป็นความโกรธ อยากตอบโต้ หรือกลัวจนเกินสถานการณ์จริง
แต่ละคนอาจมีวิธีช่วยในการดึงสติต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การนึกถึงความเป็นจริงที่ทำให้เราสบายใจขึ้น เช่น “คราวนี้ฉันอาจจะทำพลาดจริง แต่ไม่ได้แปลว่าฉันจะพลาดอีกทุกครั้ง”
ทำความเข้าใจ
ลองตั้งข้อสงสัย หัดถามคำถามเชิงสร้างสรรค์ และขอตัวอย่างหาก feedback ที่ได้รับไม่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือต้องตั้งใจ “ฟัง” อย่าจดจ่อกับความคิดที่ว่า เรากำลังเป็นคนที่ถูกตำหนิอยู่ ให้ลองเปลี่ยนมุมมองเหมือนกับเรากำลังนั่งฟังคนอื่นถูกวิจารณ์อยู่ เมื่อใช้ทริคเปลี่ยนมุมมองแบบนี้ เราจะมองข้ามความรู้สึกต่อต้านไปได้
ใช้เวลาทำใจ
วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปิดบทสนทนา เราสามารถพูดตรงๆ ได้เลยว่าต้องการเวลาทบทวนคำวิจารณ์ที่เพิ่งได้รับฟัง และจะตอบเมื่อได้ทบทวนเต็มที่แล้ว ถ้าเรารู้สึกแย่ก็ให้ยอมรับความรู้สึกนั้น ก่อนเริ่มลงมือปรับตัวในขั้นต่อไป การเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งบานปลาย คือ การใช้คำพูดที่เป็นกลาง เช่น ขอกลับไปตรวจสอบละเอียดอีกครั้ง ได้ข้อสรุปแล้วจะกลับมารายงาน
พิจารณา
ถ้าที่ผ่านมาเราทำดีแล้ว และ feedback ที่ได้เป็นความจริง แค่ 10% ก็ไม่ต้องเครียดไป และไม่ต้องไปหาข้อติจนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการฟัง แต่ให้เอาส่วนที่เป็นความจริงมาคิด วิเคราะห์ และปรับปรุง
อย่าลืมว่า ไม่ว่า feedback ไหน ก็มักจะมีความจริงซ่อนอยู่เสมอ พิจารณาให้ดีว่าในกรณีของเรา ส่วนไหนที่เป็นเรื่องจริง และถ้าคนที่ให้ feedback คือหัวหน้าของเราเอง ลองกลับไปคุยดูอีกครั้ง เพื่อบอกให้รู้ว่าเรายอมรับและพร้อมจะแก้ไขในส่วนไหน
ที่มา: